ลิ้นหัวใจเสื่อม เลี่ยงไม่ได้แต่รักษาได้

ลิ้นหัวใจเสื่อม เลี่ยงไม่ได้แต่รักษาได้
แชร์

ปัญหาลิ้นหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกวัยตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบ โรครูห์มาติก หรือในคนสูงวัยอายุประมาณ 60 – 70 ปีขึ้นไป จากความเสื่อมของลิ้นหัวใจ ยิ่งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่  ก็จะเกิดได้เร็วขึ้นรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ ผู้ป่วยสูงวัยมักมีความเสี่ยงในการผ่าตัดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย การรักษาด้วยเทคนิค TAVI ที่ซ่อมลิ้นหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่จึงเป็นทางเลือกการรักษาที่ช่วยให้ผู้สูงวัยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง

 
ทำไมลิ้นหัวใจไม่เหมือนเดิม

โดยปกติลิ้นหัวใจเอออร์ติกนั้นบาง เมื่อหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจะเปิดเพื่อให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากลิ้นหัวใจแข็งตัวจะส่งผลให้ลิ้นหัวใจเปิดไม่ได้และอาจปิดไม่สนิท ทำให้เกิดการตีบหรือรั่วได้ ในกรณีของผู้สูงอายุพบการตีบในลิ้นหัวใจเอออร์ติกได้บ่อย เนื่องจากปัญหาแคลเซียมเกาะและการหนาตัวของลิ้นหัวใจ มีสถิติในต่างประเทศที่น่าสนใจระบุว่า ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสพบลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ 2% ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปีมีโอกาสพบ 3% ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี มีโอกาสพบสูงถึง 8% ดังนั้นเมื่อสังคมผู้สูงอายุเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยลิ้นหัวใจเสื่อมย่อมเพิ่มขึ้น เพราะไม่สามารถป้องกันความเสื่อมตามวัยได้ และผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นกลุ่มพิเศษ เนื่องจากมักมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้ความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่สูงอยู่แล้วจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น
 
โรคหัวใจ, ลิ้นหัวใจเสื่อม

อาการต้องสังเกต

ผู้ป่วยมักไม่มีอาการที่ชัดเจนจนกว่าการตีบของลิ้นหัวใจอยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว ซึ่งจะมีอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้

  • วูบ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เจ็บหน้าอก เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจหนา ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องใช้แรงมากขึ้นในการบีบให้เลือดไหลเวียน
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อทดแทนการสูบฉีดเลือดที่ลดลง
  • เหนื่อยเร็วผิดปกติ เหนื่อยง่ายขึ้น เช่น เดินขึ้นบันได จากเดิมเดินในระยะเท่านี้ไม่เหนื่อยแล้วเหนื่อยมากในระยะเท่าเดิม เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่ใช้งานได้มากพอ

 
เปลี่ยนลิ้นหัวใจคือทางออก

การรักษาลิ้นหัวใจเสื่อมทำได้โดยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเพื่อทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งวิธีที่ทำมายาวนานคือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบเปิดหน้าอก โดยมีการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ผู้ป่วยต้องดมยานาน ใช้เวลาพักฟื้นนาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้ และอีกวิธีที่ได้รับความสนใจในปัจจุบันคือ การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจด้วยวิธีผ่านสายสวนที่ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ หรือ TAVI ที่เริ่มใช้ในประเทศไทยเมื่อ 5 – 6 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ใช้วิธีนี้มาแล้วหลายหมื่นคน เพราะช่วยลดความเสี่ยงขณะผ่าตัดและช่วยให้ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเวลารวดเร็ว
 
 
โรคหัวใจ, ลิ้นหัวใจเสื่อม
 

TAVI เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่า

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธีผ่านสายสวนหรือ TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) เป็นการแก้ไขภาวะลิ้นหัวใจตีบโดยไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต้องได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเท่านั้น ซึ่งกระบวนการผ่าตัดมีวิธีการดังนี้

  1. เปิดรูบริเวณขาหนีบให้มีขนาด 3 – 4 มิลลิเมตร
  2. สอดสายสวนที่มีลิ้นหัวใจเทียมสวมอยู่เข้าไปทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบไปที่หัวใจห้องล่างซ้ายจนถึงตำแหน่งลิ้นหัวใจเอออร์ติก
  3. เมื่อลิ้นหัวใจที่เตรียมไว้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมโดยขนานกับลิ้นหัวใจเดิมเรียบร้อยให้ปล่อยลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ให้กางออกเพื่อทำงานแทนลิ้นหัวใจเดิม (ลิ้นหัวใจมี 2 แบบ คือ ลิ้นหัวใจแบบสปริงที่กางออกได้เองและลิ้นหัวใจแบบที่ต้องใช้บอลลูนถ่างออก)
    *** อาจมีการสอดสายสวนทางไหล่ ทางใต้ราวนม ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
  4. ใช้ระยะเวลาในการทำหัตถการประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการรักษา
     

จุดเด่นของ TAVI

  • ไม่ต้องดมยาสลบนาน
  • แผลเล็กมากที่บริเวณขาหนีบ
  • ลดโอกาสการติดเชื้อ
  • ฟื้นตัวเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วย

 
เพราะความเสื่อมของลิ้นหัวใจไม่สามารถป้องกันได้ การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระยะยาว ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุควรตรวจเช็กหัวใจเป็นประจำทุกปี

โรคหัวใจ

แชร์

สอบถามเพิ่มเติมที่

ชั้น 1 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 07.00 – 16.00 น.
[email protected]