หัวใจพองโต เส้นเลือดแดงใหญ่ไม่พองตาม
เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองหรือภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) ที่มักไม่แสดงอาการ รู้ตัวอีกทีอาจรุนแรงถึงชีวิต ดังนั้นเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ที่ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี อยากให้ทุกคนดูแลหัวใจให้แข็งแรง โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เป็นท่อนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องใส่ใจให้ห่างไกลจากความเสื่อม
ความสำคัญของหลอดเลือดแดงใหญ่
หลอดเลือดแดงใหญ่หรือเส้นเลือดแดงใหญ่ (Aorta) คือ ท่อนำเลือดแดงที่รับเลือดแรงดันสูงที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ หัวใจ สมอง ไขสันหลัง แขน ขา ตับ ไต ลำไส้ เป็นต้น ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติกับหลอดเลือดแดงใหญ่ นอกจากส่งผลเสียกับอวัยวะในร่างกาย หากเกิดการโป่งพองอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ตัวการหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงบริเวณช่องอกหรือช่องท้อง พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ เกิดจากปัจจัยที่ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- การสูบบุหรี่
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- โรคของเนื้อเยื่อผิดปกติ เช่น Marfan Syndrome (มาร์แฟนซินโดรม) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หากอาการที่ป่วยกระทบกับหลอดเลือดแดงใหญ่อาจส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพองได้
- โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ แบ่งการอักเสบออกเป็น 2 ประเภทคือ การอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ตัวเอง เช่น Takayasu’s, Giant cell arteritis, Polyarteritis nodosa, Behcet’s, Cogans’ เป็นต้น และการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรควัณโรค โรคซิฟิลิส เป็นต้น
- อุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุที่นำไปสู่การกระแทกรุนแรง ทำให้ผนังหลอดเลือดบางผิดปกติและโป่งพอง เป็นต้น
อาการบอกโรค
ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมักไม่แสดงอาการล่วงหน้า อาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมักขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดนั่นคือช่องอกและช่องท้อง จะเกิดการกดเบียดของหลอดเลือดกับอวัยวะข้างเคียง เช่น กดเบียดหลอดอาหาร ปวดท้อง กดหลอดลม หายใจลำบาก เป็นต้น รวมทั้งอาจคลำพบก้อนบริเวณช่องท้องได้เช่นกัน แต่หากมีอาการแน่นหน้าอก ปวดหลัง หน้ามืด หมดสติ ไอเป็นเลือด ควรต้องรีบพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจทันที
ป้องกันได้แค่ตรวจเช็ก
การป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองอย่างเห็นผลคือ การนำผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสื่อมของหลอดเลือดแดงใหญ่มาตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม หากเป็นบริเวณช่องอกแนะนำให้ถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หากเป็นบริเวณช่องท้องแนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)
สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ ได้แก่
- ผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี มีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต มีประวัติครอบครัวหรือญาติสายตรงเสียชีวิตจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ควรเข้ารับการตรวจทันที
- ผู้ที่อายุน้อยกว่า 65 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น กรรมพันธุ์ โรคมาร์แฟนซินโดรม ควรตรวจคัดกรองโดยเร็ว
ดูแลหัวใจให้ไม่อ่อนแอ
วิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้ห่างไกลจากภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ได้แก่
- เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เค็มจัด หวานจัด ของทอด ของมัน
- ออกกำลังกายระดับปานกลางสม่ำเสมอ เช่น วิ่งจ็อกกิง ว่ายน้ำ เดินเร็ว
- ไม่เครียด ใช้ชีวิตให้มีความสุข
- หยุดและเลิกสูบบุหรี่
ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ควรตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อจะได้ตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายและรับมือได้ทันท่วงที และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หัวใจแข็งแรง นายแพทย์อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพและศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก กล่าวว่า “ใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่เครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ทำกิจกรรมที่มีความสุข เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย เพื่อให้ความดันโลหิตไม่สูง หัวใจจะได้มีความสุขไปด้วย”