เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเสื่อมด้วยเทคนิคสายสวน
ลิ้นหัวใจเสื่อมเป็นโรคที่ได้ยินมากขึ้นในปัจจุบัน จากเดิมที่เคยได้ยินแต่โรคลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรูห์มาติก ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ลิ้นหัวใจใช้มานานมาก ย่อมมีความเสื่อมตามวัย หรือในบางรายลิ้นหัวใจอาจถูกเร่งให้เสื่อมจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่
รู้ให้ทันลิ้นหัวใจเสื่อม
ลิ้นหัวใจที่มีความเสื่อมจะมีไขมัน หินปูน หรือแคลเซียมมาเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจแข็ง ไม่ยืดหยุ่น เปิด ปิดได้ไม่เต็มที่ บางคนมีแคลเซียมเข้าไปเกาะบริเวณที่เป็นแฉกลิ้น ทำให้เปิดไม่ได้ เมื่อเปิดไม่ได้เลือดก็ไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เต็มที่ เมื่อลิ้นหัวใจเริ่มแข็งตัวเพิ่มขึ้น หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด ผนังหัวใจจะหนา หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาก็จะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
ภาวะเสื่อมของลิ้นหัวใจที่ถือว่าอันตรายมาก คือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติก ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจช่องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายที่หากมีภาวะเสื่อมหรือเปิด ปิดไม่ได้ เลือดก็จะไปเลี้ยงทั้งร่างกายไม่ได้เลย โดยเฉลี่ยประมาณ 3% ของคนไข้ที่มีอายุ 80 ปี จะเริ่มมีลิ้นหัวใจผิดปกติทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ตามสถิติผู้ชายมักจะเป็นมากกว่า คือประมาณ 60% ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 40%
อาการสัญญาณเตือน
อาการที่ส่งสัญญาณถึงความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เปิดหรือปิดไม่สนิท เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบที่เห็นได้ชัดคือ
- เหนื่อยง่าย
- หน้ามืดเป็นลมบ่อย ๆ
- เจ็บหน้าอก อย่างน้อย 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์
รักษาลิ้นหัวใจเสื่อม
ภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา เพราะปัญหาคือลิ้นหัวใจตีบ การรักษาคือต้องทำให้ลิ้นหัวใจหายตีบ สมัยก่อนใช้การผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเข้าไป ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมมีทั้งชนิดที่ทำจากเนื้อเยื่อและที่ทำจากโลหะ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะสามารถอยู่ได้นานมาก แต่ผู้ป่วยต้องกินยาละลายลิ่มเลือด ส่วนลิ้นเนื้อเยื่อไม่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด แต่อายุการใช้งานอาจไม่เท่าลิ้นที่ทำจากโลหะ ซึ่งสมัยก่อนไม่ว่าจะเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไหนก็ต้องทำโดยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมากขึ้น ขณะที่สังคมโลกก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ การผ่าตัดอาจจะไม่เหมาะกับคนที่อายุมาก ๆ เนื่องจากสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกเพราะฟื้นตัวช้า
TAVI เทคนิคซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด
ในปี ค.ศ. 1985 ศาสตราจารย์ นพ. Alan Cribier ของฝรั่งเศสได้ทดลองวิธีการนำลิ้นหัวใจใส่สายสวนเพื่อเข้าไปเปลี่ยนลิ้นหัวใจแทนการผ่าตัด โดยเรียกเทคนิคนี้ว่า TAVI ( Transcatheter Aortic Valve Implantation) เป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งเหมาะกับคนไข้ที่มีปัญหาในส่วนของลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic Valve) ข้อดีของการใช้เทคนิค TAVI เพื่อซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด คือ คนไข้เสียเลือดน้อย ลดความเสี่ยงจากการดมยาโดยไม่จำเป็น และไม่จำเป็นต้องใช้ปอดกับหัวใจเทียมเหมือนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบเปิดหน้าอก สามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่ 2 – 3 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ขณะที่คนไข้ผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกต้องพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 7 – 10 วัน
หลักการของ TAVI เป็นการใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษ ซึ่งสามารถม้วนให้เล็กเพื่อเข้าไปอยู่ในท่อเล็กประมาณ 8 – 10 มิลลิเมตรของระบบนำส่ง จากนั้นก็สอดระบบนำส่งไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปที่ยอดของหัวใจห้องล่างซ้ายจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก จากนั้นจึงทำการปล่อยตัวลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาจากระบบนำส่ง ซึ่งจะทำให้ลิ้นหัวใจกางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่ โดยที่คนไข้จะมีแผลเล็ก ๆ บริเวณขาหนีบหรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือด้านบนของหน้าอกข้างขวา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ใส่ขดลวดพิเศษเท่านั้น ปัจจุบันเทคนิค TAVI กลายเป็นการรักษาทางเลือกของผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือปานกลางเท่านั้น
สำหรับการใส่ขดลวดพิเศษสามารถใส่ได้หลายทาง ทั้งทางขาหนีบ ไหล่ ทางเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นแขน ทางขวาของหน้าอกผ่านเส้นเลือดใหญ่ที่ออกมาจากหัวใจและทางแผลเล็กบริเวณยอดหัวใจ แต่ส่วนใหญ่ 80% ใส่จากทางขาหนีบ เพราะเส้นเลือดมีขนาดใหญ่ ยกเว้นว่าเส้นเลือดที่ขาหนีบของคนไข้มีขนาดเล็กหรือเส้นเลือดอุดตันเข้าไม่ได้ถึงจะเลือกไปทำที่ตำแหน่งอื่นแทน การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยใช้สายสวนนี้ใช้เวลาทำประมาณ 2 ชั่วโมง
ข้อจำกัดในการทำ TAVI ที่ต้องระวัง คือ ในกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อหรือมีแบคทีเรียอยู่ในกระแสเลือด คนไข้ที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คนไข้ที่มีลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ คนไข้ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วมาก ๆ คนไข้ที่เพิ่งเป็นอัมพาตมาใหม่ ๆ เพราะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด คนไข้ที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบและมีอาการ เมื่อผ่าตัดเสร็จ ช่วง 3 เดือนแรก อาจต้องกินยาละลายลิ่มเลือด ไม่ออกกำลังกายหรือทำอะไรที่หักโหม หลังพักฟื้น 3 เดือนคนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกยาวนาน